วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

วันครอบครัว

ประวัติวันครอบครัว


           เมื่อ วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2532 คณะรัฐมนตรี ซึ่งมีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรีได้เสนอมติโดยคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นผู้เสนอ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยและอนุมัติ ให้ วันที่ 14 เมษายน ของทุกปี เป็นวันแห่งครอบครัว ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ของไทย เพราะโดยส่วนใหญ่ในวันนี้เป็นวันที่สมาชิกในครอบครัวมีโอกาสพบปะกันได้โดย สะดวก
 
          การที่ทางราชการกำหนดวันครอบครัวขึ้นมานั้น เนื่องจากคณะกรรมมาธิการกิจการสตรีและเยาวชน สภาผู้แทนราษฎร ได้สรุปผลจากการศึกษาปัญหาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ว่าปัญหาครอบครัวเป็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ตามมาเป็นอันมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติดอาชญากรรม และปัญหาต่าง ๆ อีกมากมาย ปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากครอบครัวด้วย เนื่องจากครอบครัว ที่ไม่มีความอบอุ่น ขัดแย้ง ความไม่เข้าใจกันระหว่างคนในครอบครัว ลักษณะวิถีชีวิตของครอบครัวในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก สมาชิกในครอบครัวต่างต้องดิ้นรนทำมาหาเลี้ยงชีพ หนุ่มสาวที่อยู่ต่างจังหวัดก็เข้ามาในเมืองเพื่อหางานทำ ทำให้ต้องทิ้งพ่อแม่ที่ชราภาพไว้ตามลำพัง พ่อแม่ที่ต้องทำงานหนักเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับลูก และครอบครัว ไม่มีเวลาสั่งสอนอบรมลูก สิ่งเหล่านี้ล้วน แต่จะสร้างปัญหาให้กับสังคม

ความสำคัญของวันครอบครัว


          ครอบครัว คือ  สถาบันมูลฐานของมนุษย์ชาติ เป็นหน่วยขนาดเล็กที่สุดของสังคม เป็นผู้สร้างและกำหนดสถานภาพ สิทธิ หน้าที่ของบุคคลอันพึงปฏิบัติต่อกันในสังคม เป็น สถาบันแห่งแรกในการถ่ายทอดวัฒนธรรมและพัฒนา ผู้ร่วมครัวเรือน คือ สามี ภรรยา และบุตร การที่ทางราชการกำหนดวันครอบครัวขึ้นมานั้น เนื่องจากต้องการให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของครอบครัวให้มากขึ้น เพราะการที่วิถีชีวิตของคนในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป ย่อมทำให้ครอบครัวมีความขัดแย้ง และห่างเหินกันมากขึ้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมาทีหลังได้

ความหมายของสถาบันครอบครัว

 
1. ความหมายทั่วไป
 
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายของคำว่า " สถาบัน" และ " ครอบครัว " ไว้ดังนี้          
           สถาบัน หมายถึง สิ่งซึ่งคนในส่วนรวม คือ สังคมจัดตั้งให้มีขึ้นเพราะเห็นประโยชน์ว่ามีความต้องการและจำเป็นแก่วิถีชีวิตของตน เช่น สถาบันครอบครัว ฯลฯ
           ครอบครัว หมายถึง ผู้ร่วมครัวเรือน คือ สามี ภรรยา และบุตร
 
2. ความหมายตามแนวพุทธศาสตร์
 
            ครอบครัวตามแนวพุทธศาสตร์ ไม่มีการกำหนดตายตัว แต่กล่าวถึงลักษณะอันเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของสมาชิกในครอบครัวเท่านั้น ในทางพุทธศาสนาจะกล่าวถึงครอบครัวในรูปของสามีภรรยา บิดา มารดา เท่านั้น ซึ่งถือว่า มารดา บิดาก็ดี สามี ภรรยาก็ดี เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของครอบครัว
 
3. ความหมายในแง่สถาบัน
 
            ครอบครัว หมายถึง การอยู่ร่วมกันของชายหญิง ในรูปของสามี ภรรยา มีหน้าที่ให้กำเนิดบุตรและเลี้ยงดูบุตร เพื่อให้สามารถดำรงชีพอยู่ในสังคมได้ สมาชิกในครอบครัวมีการแสดงออกทางพฤติกรรมต่อกันและกัน ในรูปของการปฏิบัติตามสถานภาพและบทบาทอันเป็นหน้าที่ของสมาชิก

บทบาทหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัวที่พึงปฏิบัติต่อกัน

1. ให้ความรัก ความอบอุ่นและความเอื้ออาทรต่อกัน
2. หันหน้าเข้าหากันและยอมรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน 
 
3. ช่วยเหลือ ดูแล เกื้อกูล ซึ่งกันและกัน 
4. ดูแลเอาใจใส่และให้เวลากับครอบครัวมากขึ้น
5. รู้จักวางแผนการใช้จ่ายอย่างประหยัด/ไม่ฟุ่มเฟือย
6. รู้จักให้อภัยซึ่งกันและกัน
7. ปฏิบัติกิจกรรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวรวมกันเช่น การเข้าวัดอบรมปฏิบัติธรรมนำครอบครัวอบอุ่นครอบครัวสนุกกับห้องสมุด ศิลปะสุดสัปดาห์
 

10 วิธีสร้าง "บ้านสุข" ที่ไม่ใช่แค่ทฤษฎี

      การที่พ่อแม่ทุกคนหวังไว้ว่า อยากให้ครอบครัวเป็นครอบครัวที่อบอุ่น ลูกได้รับความรักและการดูแลเอาใจใส่อย่างที่เขาตั้งใจไว้ แต่ทว่าในความเป็นจริงแล้วความหวังกับความเป็นจริงอาจสวนทางกันเนื่องด้วยภาระที่ต้องรับผิดชอบทั้งหน้าที่การงานและหน้าที่พ่อแม่
      
       ทั้งนี้ การที่พ่อแม่จะสร้างครอบครัวให้อบอุ่นดังหวังนั้น เปรียบเสมือนของขวัญที่ล้ำค่าที่สุดสำหรับลูกเลยก็ว่าได้ เพราะหากพวกเขาอยู่ในครอบครัวที่อบอุ่น มีแต่ความรัก ความเข้าใจ เมื่อลูกโตขึ้น เขาก็จะมีแต่ความทรงจำที่ดีและมีแบบแผนปฏิบัติต่อไป
      
       ดังนั้นหากครอบครัวในวันนี้ยังมีความสุขไม่มากพอลองมาดูเคล็ดลับดีๆที่สามารถเพิ่มมวลความสุขให้ครอบครัวได้ง่ายๆ 10 วิธีดังนี้
       
       1. "หัวเราะ" ไปด้วยกัน
      
       เสียงหัวเราะคือวิธีหนึ่งที่สามารถทำให้ทุกคนในครอบครัวได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น ดังนั้นการที่ใครสักคนแบ่งปันเรื่องราวสนุกสนานน่าขำมาให้คนในบ้านได้หัวเราะไปพร้อมกัน หรือการนั่งดูรายการตลกในช่วงเวลาว่างด้วยกันทั้งครอบครัวก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ
      
       2. "ขอบคุณ"กันและกัน
      
       หลายครั้งที่มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม คนในครอบครัวอาจหลงลืมช่วงเวลาดีๆไปบ้าง ดังนั้นการที่เราไม่ลืมคำว่า "ขอบคุณ"และ"ขอโทษ" ก็ทำให้ความรู้สึกดีๆยังคงอยู่ต่อไป อย่าลืมว่า ความสุขของทุกคนในครอบครัวจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อทุกคนเข้าใจกัน
      
       ดังนั้นนับเป็นโอกาสที่ดีหากพ่อแม่สอนลูก พี่สอนน้อง น้องมีน้ำใจต่อพี่ๆ ก็ควรใช้เวลาตรงนั้นกล่าวคำว่า "ขอบคุณ" ไปบ้าง เพราะมันไม่ใช่เรื่องน่าอับอายอะไรเลย
      
       3. "แบ่งปัน"ความสุขให้ลูกบ้าง
      
       ของขวัญจากพ่อแม่ที่วิเศษอีกอย่างหนึ่งคือการที่ทั้งสองแบ่งปันความรักให้ลูกได้เรียนรู้ว่า พ่อกับแม่รักกันมากแค่ไหน ขณะเดียวกันก็ควรสอนให้ลูกรู้จักรักแท้ที่พ่อมีให้แม่ ซึ่งการพูดให้ลูกรู้คงไม่สำคัญเท่ากับการแสดงออกให้ลูกเห็น และถ้าลูกรับรู้ได้ว่า พ่อกับแม่รักกันแค่ไหน พวกเขาก็จะมีความสุขและมองความรักในแง่ดีอีกด้วย
 
 
       4. "สุข" อย่างพอเพียง      
       บางครั้งปัญหาทางด้านการงานของแต่ละครอบครัว ก็เป็นตัวการสำคัญที่บั่นทอนความสุขได้มากทีเดียว ทั้งๆที่หลายคนอาจเถียงว่า ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเงินและงานมากกว่าลูก แต่ ณ เวลานั้น หัวหน้าครอบครัวหลายคนอาจมองไม่เห็นตัวเอง จนทำให้สาเหตุของปัญหาด้านการเงินและความไม่รู้จักพอเป็นบ่อเกิดของปัญหาซึ่งพาลหาเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับลูก-เมียได้ง่ายมาก
      
       ทั้งนี้ ถ้าใครไม่อยากให้เงินมาเป็นตัวบ่อนทำลายความสุขของครอบครัว ก็ควรจัดระเบียบความคิดและเปลี่ยนมุมมองใหม่ว่า แค่ไม่เป็นหนี้ ไม่อยากมีอยากได้จนเกินตัว ครอบครัวก็สุขสมบูรณ์ได้ด้วยความพอเพียง อย่าไปดิ้นรนเพื่อวัตถุนอกกายเพียงแค่ให้เป็นหน้าเป็นตา ในขณะที่ครอบครัวกำลังจะพังอีกเลย
      
       5. "มารยาท" เพิ่มสุข
      
       บทบาทของพ่อแม่ที่สำคัญคือการสอนและดูแลเอาใจใส่ ซึ่งสิ่งสำคัญที่เด็กส่วนใหญ่มักพลาดกันก็คือเรื่องมารยาท ดังนั้นหากพ่อแม่สอนให้ลูกรู้จักมารยาทโดยวิธีการที่ไม่ใช่การต่อว่าลูก ลูกก็จะรู้จักปรับปรุงและน้อมรับในสิ่งที่พ่อแม่สอน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าการที่พ่อแม่สอนลูก แล้วลูกนำไปปฏิบัตินั้น ก็คือความสุขที่พ่อแม่จะได้กลับมา ขณะที่ลูกๆเอง ถ้าเขามีมารยาทนอกจากคนในครอบครัวแล้ว สำหรับคนในสังคมเอง พวกเขาก็จะมีความสุขเพราะลูกของเราเช่นกัน
       
       6. "ปรับ"บ้านให้มีกฎ
      
       หลายครั้งที่พี่น้องอาจทะเลาะกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างการเล่นในบ้านหรือการพูดจายุแหย่ตามประสาเด็ก ซึ่งทำให้พ่อแม่หลายคนปวดหัวไปตามๆกัน
       ดังนั้นวิธีที่จะช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ พ่อแม่ควรตั้งกฎระเบียบให้ลูกๆและเพื่อนๆที่จะมาเล่นในบ้านปฏิบัติตามกันอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งยังได้ฝึกระเบียบวินัยเด็กๆอีกด้วย
      
       
7. "เชื่อมั่น" กันและกัน      
       เด็กๆอาจมีความเชื่อมั่นในตัวเองค่อนข้างสูงกว่าผู้ใหญ่ พ่อแม่ก็ควรใหอิสระกับลูกในการตัดสินใจและเชื่อมั่นในตัวลูก แต่อิสระในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาจะอะไรก็ได้ไร้ขอบเขต ความเชื่อมั่นในที่นี้หมายถึงพ่อแม่ควรให้ลูกตัดสินใจเลือกในสิ่งที่พวกเขาอยากทำโดยอยู่ในสายตาของพ่อและแม่เพื่อให้เขาเรียนรู้สิ่งต่างๆผ่านประสบการณ์ด้วยตนเอง ไม่ใช่บังคับลูกเสียทุกอย่าง เพราะหากเป็นเช่นนั้น นอกจากจะไม่มีความสุขแล้ว ครอบครัวอาจแตกแยกได้อีกด้วย


       8. "ชื่นชม" มากกว่าติเตียน
      
       การชื่นชมในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า ต่อให้ลูกทำผิดก็บอกว่าไม่ผิด เข้าข้างลูกอย่างไม่มีเหตุผล แต่การชื่นชมที่พ่อแม่ควรทำคือการที่ประสบความสำเร็จหรือสามารถทำอะไรบางอย่างที่น่ายินดี พ่อแม่ก็ควรให้กำลังใจลูก แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม เพราะในที่สุดแล้ว เมื่อลูกได้รับกำลังใจจากพ่อแม่ เขาก็จะมีความสุข และเมื่อลูกมีความสุข พ่อแม่ก็จะพลอยสุขไปด้วย
      
       9. ลด "กังวล"
      
       คำนึงอยู่เสมอว่า ไม่ว่าจะเจอปัญหาหนักหนาแค่ไหน แต่คนในครอบครัวก็ยังคงเป็นกำลังใจและรออยู่ที่บ้านเสมอ ดังนั้นหากพ่อแม่เครียดจากการทำงาน ก็ไม่ควรเอาปัญหาไปที่บ้านด้วยเพราะจะทำให้บรรยากาศเสียเข้าไปใหญ่ ลองนึกดูว่า ถ้าลูกๆกำลังรอพ่อแม่กลับบ้านเพื่อนั่งทานข้าวเย็นพร้อมกัน แต่กลับต้องพบว่า พ่อหงุดหงิด เรื่องงาน แม่ก็มีปัญหาที่ไม่ได้ต่างกัน เด็กๆที่รอที่บ้านคงเสียใจและหงุดหงิดตามกันเป็นแน่
      
       ดังนั้น หากมีปัญหาอะไรก็ควรแยกแยะเวลางานและเวลาครอบครัวเท่าที่จะทำได้ ถ้าสิ่งไหนที่สามารถบอกเล่าและปรึกษากันและกันได้ก็ไม่ควรเก็บปัญหานั้นไว้คนเดียว เพราะทุกคนในครอบครัวไม่มีใครทิ้งใครได้แน่นอน ความกังวลจะลดลงได้ถ้ามีใครสักคนรับฟัง
      
       10. "ช่วยเหลือ" กันและกัน
      
       สิ่งที่สำคัญที่สุดนอกเหนือจากที่กล่าวมานั้น การอยู่ร่วมกันเป็นทีมที่มีความสามัคคีกัน นับเป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง ดังนั้นการที่ครอบครัวพร้อมใจช่วยเหลือกันและกันเปรียบเสมือนเป็นทีมเดียวกัน แน่นอนว่าไม่ว่าจะเจออุปสรรคแบบใด ครอบครัวที่แข็งแรงแบบนี้ก้จะสามารถฝ่าฟันไปได้ด้วยดี และในที่สุด อุปสรรคต่างๆก็ไม่สามารถทำลายมวลความสุขของทุกคนในครอบครัวลงไปได้แม้แต่น้อย
       
       เคล็ดลับทั้ง 10 ข้อนี้ หลายคนอาจบอกว่าพูดง่าย คิดง่าย แต่ทำยาก ซึ่งหากลองเปลี่ยนทัศนคติว่า ทำยากแต่ก็ทำได้ เชื่อว่า ไม่ว่าจะเป็นกี่เคล็ดลับ ถ้าทุกคนอยากทำให้ครอบครัวมีสุข ก็สามารถทำได้โดยปราศจากข้ออ้างใดๆแน่นอน เพียงแค่ให้ทุกคนในบ้านร่วมมือกัน

วิธีสร้างสัมพันธภาพกับบุคคลในครอบครัว

วิธีสร้างสัมพันธภาพกับบุคคลในครอบครัว
สัมพันธภาพและบรรยากาศที่อบอุ่นในครอบครัวก่อให้เกิดความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัยทางจิตใจที่คนในครอบครัวรู้สึกเมื่ออยู้ร่วมกัน บรรยากาศแห่งการมีสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวนั้น ทุกครอบครัวสามารถสร้างขึ้นได้โดยปฏิบัติ ดังนี้
1. ยิ้มแย้มแจ่มใสกับทุกคนในบ้าน
2. รักและห่วงใยรู้จักเอื้ออาทรและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
3. รับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย
4. ช่วยงานบ้านทุกอย่างด้วยความเต็มใจ
5. รู้จักฟังผู้อื่นพูดและยอมรับในความคิดของผู้อื่น

ครอบครัวอบอุ่น

ลักษณะของครอบครัวที่อบอุ่น
ครอบครัวที่อบอุ่นเป็นครอบครัวที่มีความสุขมีความพอใจในครอบครัวตนเอง ซึ่งมีลักษณะดังนี้
1. หัวหน้าครอบครัวมีความรักความเข้าใจในสมาชิก มีความเมตตา เอื้อเฟื้อ เสียสละให้อภัยและเอื้ออาทรต่อสมาชิกในครอบครัวทุกคน ไม่ลงโทษต่อสมาชิกในครอบครัวโดยวิธีที่รุนแรงไม่แสดงกิริยาข่มขู่ หรือทำให้บุคคลในครอบครัวอับอาย
2. หัวหน้าครอบครัวไม่ลำเอียงในการเลี้ยงดู ให้ความรักความสำคัญกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เช่น ไม่ลำเอียงรักลูกคนเล็กมากที่สุดไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่แสดงกิริยารักเฉพาะบุตรตนเองกับผู้อื่น รักษาดูแลสมาชิกในครอบครัวเมื่อเจ็บป่วย
3. ระบบการปกครองมีความเป็นประชาธิปไตยและมีเสรีภาพ โดยรู้จักยอมรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เช่น ไม่รื้อค้นสิ่งของผู้อื่นก่อนได้รับอนุญาต ไม่เปิดจดหมายผู้อื่น เป็นต้น
4. สมาชิกในครอบครัวมีความรักใคร่สามัคคี ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง  หรืออาฆาตพยาบาทต่อกัน มีความเห็นอกเห็นใจกัน ให้การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
5. สมาชิกในครอบครัวรู้จักบทบาทหน้าที่ตนเอง มีสัมมาคารวะมีความรับผิดชอบ มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่คดโกง ไม่ลักขโมย ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับครอบครัว